ปลูกบ้านอย่างไทยเหมาะไหมกับยุคดิจิทัล
เรือนไทยมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ที่เรารู้จักกันดีและเป็นที่นิยมคือ เรือนไทยภาคกลาง ลักษณะของเรือนไทยภาคกลางคือเป็นเรือนทรงสอบ ฐานกว้าง แล้วค่อยๆ เล็กสอบด้านบน ลักษณะเป็นยกพื้นสูง หลังคาทรงจั่ว สาเหตุของเรือนไทยลักษณะนี้ก็คือ ภาคกลางเป็นพื้นที่ลุ่ม แม้หน้าดินจะแข็งแต่ชั้นใต้ดินค่อนข้างนิ่ม ฐานของเรือนไทยจึงเป็นกว้างแล้วปลายสอบชะลูดขึ้น เพื่อรักษาสมดุล
การวางตำแหน่งเรือนไทยต้องวางตามตำแหน่งทักษา ซึ่งสาเหตุจริงๆ เป็นการตั้งเรือนตามทิศทางลม คือ หน้าร้อนลมจะพัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือ หน้าหนาวเป็นทิศเหนือสู่ทิศใต้ เรือนไทยโบราณจึงหันหน้าเรือนไว้ที่ทิศใต้ เพราะใช้รับลมในหน้าร้อน และกันลมในหน้าหนาว ด้านแคบของเรือนจึงอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เพราะต้องรับแดดตลอดเช้าหรือบ่าย การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนไม้ฝาเรือนในด้านแคบจึงประหยัดเงินกว่าเปลี่ยนในด้านกว้าง ในขณะที่หากเรือนอยู่ริมน้ำย่อมต้องหันหน้าไปทางแม่น้ำอันเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมในอดีต เรือนไทยจึงรับลมเย็นจากแม่น้ำได้อย่างเต็มที่
อีกสาเหตุหลักของการยกพื้นสูงมีใต้ถุนของเรือนไทย คือ ใช้เป็นที่เก็บของเก็บเครื่องมือในการทำงาน ในหน้าร้อนใช้นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน เพราะใต้ถุนมีลมโกรกและหลบแดดได้ดีเยี่ยม แถมยังสามารถทำเป็นคอกสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ ไว้ใต้ถุนอีกด้วย เหตุที่ต้องเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนเพราะป้องกันขโมยในเวลากลางคืน และยังต้องสุมไฟไล่ยุงให้สัตว์เลี้ยงเป็นผลพลอยไล่ยุงให้คนได้ด้วย เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ใต้ถุนสูงทำให้ไม่ต้องหนีน้ำไปอยู่ที่ไหน น้ำไหลผ่านไปได้สะดวก ไม่ท่วมไม่ขังนาน เพราะไม่มีทำนบหรือเขื่อนกั้น บ้านในแถบเดียวกันทุกหลังก็อยู่ในรูปแบบเหมือนๆ กัน
จะเห็นว่าเราบรรยายลักษณะดีของบ้านไทยที่ไม่ร้อนเหมาะกับสภาพภูมิอากาศไปแล้ว แต่ปัจจุบันบ้านไทยอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้เท่าอดีต สาเหตุแรกคือ สภาพอากาศ ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นของเมืองไทยพัดลมอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการแทบทุกบ้านจึงต้องติดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากบ้านไม้จะมีช่องลม ช่องว่างระหว่างแผ่นไม้ การจะปรับเปลี่ยนเรือนไทยให้ติดแอร์ได้จึงค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูง
ประการต่อไปมาคือ พื้นที่ เนื่องจากดั้งเดิมคนไทยไม่ใคร่จะสะสมหรือเก็บของ มีเพียงเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น ตำแหน่งที่จะตั้งเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติมอาจจะไม่เหมาะกับการรับน้ำหนักของเสาหรือคานของเรือน ไหนจะวิถีการกินที่เปลี่ยนไป จากเคยนั่งพื้นกินข้าวนอกชาน ก็เปลี่ยนไปเป็นนั่งโต๊ะ ครั้นจะตั้งโต๊ะกินข้าวบนเรือนก็ดูประดักประเดิดแปลกแยก ที่สำคัญเรือนไทยมีบางพื้นที่อยู่นอกบ้าน เช่น ห้องน้ำ หรือบันได จะเข้าออกเวลากลางคืนก็ลำบาก หากวันไหนฝนตกบันไดก็ลื่น จะพากันเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ประการสุดท้ายคือ ค่าใช้จ่าย ไม้ในปัจจุบันราคาแพงมาก สร้างบ้านไม้หนึ่งหลังเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าสร้างตึก แถมยังต้องค่อยเปลี่ยนไม้ในส่วนต่างๆ ที่ผุกร่อนได้ง่าย เช่น ปั้นลม เหงา(ลายที่อยู่ตอนล่างและอยู่ข้างหน้าของลายกนก) ทุกๆ สองสามปีอีกด้วย ทั้งหากต้องการจะอยู่ก็ต้องแก้แบบ ต่อเติม ซ่อมแซม เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศ และลักษณะการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เรียกว่า จะอยู่เรือนไทยมีแต่เสียเงินมาก หากใครคิดจะเป็นเจ้าของหรือมีมรดกจากปู่ย่าตาทวดก็ต้องลองคิดลองคำนวณให้ดี ว่าเรือนไทยสมัยนี้เหมาะที่จะอยู่หรือไม่
ผู้เขียน: อรรถอรองค์