Winter is not Coming แต่พายุจริง ๆ กำลังจะมา! ได้เวลาตรวจบ้านป้องกันฝน
หลายท่านที่ติดตามซีรี่ส์ Game of Thrones ซึ่งกำลังจะจบลงไปคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า Winter is coming. ที่มากับบรรยากาศความหนาวเหน็บที่แต่ละตระกูล (house -บ้าน) ต่างเกรงกลัว แต่สำหรับเมืองร้อนชื้นแบบไทย Storms are coming ดูจะเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับ “บ้าน” เรามากกว่า
ZmyHome Blog จึงอยากขอเสนอ สิ่งที่ควรเตรียมตัว 6 ข้อเพื่อรับมือกับพายุ ที่กำลังจะมา
1. ตรวจสอบหลังคาคุ้มหัวก่อนว่ารั่วหรือไม่
เรื่องนี้อาจจะต้องรอให้พายุฝนลูกย่อม ๆ ผ่านมาก่อน แล้วถึงจะพอรู้ได้ว่ามีน้ำหยดลงฝ้าที่จุดใด แต่หากมีรอยรั่วบางจุดที่ไม่ได้ซ่อมแซมและทิ้งไว้ตั้งแต่ฝนครั้งก่อน ก็ถึงเวลาเรียกให้ช่างมาซ่อมแซมหลังคาจุดนั้นสักที หลังคาที่รั่วแล้วมีแนวโน้มจะรั่วมากขึ้น เช่น หากรั่วเพราะกระเบื้องหลังคามีรอยร้าว ก็ย่อมจะร้าวมากขึ้นเมื่อผ่านร้อนผ่านหนาวไปอีกปี หรือหากเป็นเพราะกระเบื้องที่ติดตั้งไม่ดี ก็มีโอกาสเคลื่อนตัวผิดไปจากที่ควรจะเป็นมากขึ้นเมื่อผ่านลมผ่านฝนมาอีกหนึ่งปี การมองว่าที่ผ่านมารั่วแค่นิดเดียวไม่เห็นเป็นอะไรนับเป็นความประมาทในธรรมชาติของความเสื่อมโทรม
2. ในวันที่แห้งต่อเนื่องกันยาวนาน จงตรวจสอบรางน้ำฝน และนำใบไม้กิ่งไม้ออกจากราง
การตรวจสอบรางน้ำฝนเป็นเรื่องปกติที่ควรทำ แต่ที่อยากให้เคลียร์ในวันที่แห้งต่อเนื่องยาวนาน เพราะเศษใบไม้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงรำคาญเช่น มด ปลวก หรืออาจมีแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ตะขาบได้ แมลงพวกนี้ชอบอยู่ในที่ชื้น การเคลียร์รางน้ำฝนขณะที่แห้งจะปลอดภัยกว่า
3. ตรวจสอบทำความสะอาดดาดฟ้าให้ดี ดาดฟ้าที่เหมือนจะไม่มีอะไรขึ้นไปสะสมได้เลย ก็อุดตันได้เช่นกัน
เพราะบ้านเมืองเราร้อนชื้น แค่ฝุ่นทรายที่ผ่านร้อนผ่านฝนผ่านชื้นเท่านั้น ก็สามารถก่อกำเนิดเป็นคราบตะไคร่แผ่นหนาที่พร้อมอุดตันท่อระบายน้ำดาดฟ้าได้ง่ายดาย โดยเฉพาะพื้นดาดฟ้าที่เป็นปูนซึ่งคราบตะไคร่ยึดเกาะได้ง่าย แถมยังมีนกเล็กๆ ที่กินเมล็ดพืชไปแล้วอึทิ้งไว้บนดาดฟ้า เมื่อบวกกับคราบตะไคร่แล้ว จะทำให้ต้นไม้เติบโตได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นตรงมุมดาดฟ้าหรือฝาตระแกรงระบายน้ำ และนี่คือสาเกตุของดาดฟ้าที่อุดตันได้อย่างปาฏิหาริย์ ทั้งๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรขึ้นไปอุดตันเลย
4. อย่าประมาทรางระบายน้ำรอบบ้าน เพราะหากอุดตันขึ้นมา อาจทำให้รางน้ำฝน หรือดาดฟ้าข้างบนตันได้เช่นกัน
เพราะระบบท่อระบายน้ำจากรางน้ำฝนและดาดฟ้า มักเชื่อมต่อกับรางระบายน้ำรอบบ้าน ซึ่งหากเชื่อมต่อถึงกัน แล้วรางระบายน้ำรอบบ้านตันขึ้นมา น้ำจากดาดฟ้าจะไม่สามารถไหลลงได้คล่องแคล่ว เมื่อบวกกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก จะทำให้น้ำท่วมดาดฟ้าหรือรางระบายน้ำฝนได้ฉับพลัน รางน้ำฝนจะล้น ดาดฟ้าจะเกิดน้ำท่วมเข้าบ้านแทน
5. ทุกรอยต่อคือจุดอ่อน ตรวจดูซีลยางและซิลิโคนขอบหน้าต่าง ว่าหมดอายุการใช้งานแล้วหรือไม่
ทุกรอยต่อของวงกบหน้าต่างกับผิวผนัง คือจุดอ่อนที่น้ำฝนจะรั่วเข้ามาได้ และยางพวกนี้มีอายุการใช้งาน เมื่อผ่านร้อนผ่านหนาวมาระดับหนึ่งมักจะเสื่อมสภาพไป รอยต่อที่ผ่านฝนที่แล้วมาอย่างปลอดภัย อาจไม่ได้ปลอดภัยสำหรับฝนนี้ สังเกตแลตรวจสอบให้ดี ว่ายางพวกนี้ที่ด้านนอกบ้านยังยืดหยุ่นดี หรือกรอบแห้งหลุดจากผนัง ถ้าเป็นอย่างหลัง ให้หาช่างมาซ่อมแซมก่อนพายุมา
อ่านเพิ่มเติม : ขอบหน้าต่างคอนโดรั่ว แก้ไขอย่างไรดี?
6. ผนังที่ร้าวราน อีกหนึ่งทางเข้าบ้านของน้ำฝน
ภาพผนังภายนอกร้าวเป็นเส้นเล็กๆ อาจคุ้นชินตา ซึ่งผนังร้าวอาจเกิดจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน หรือผนังด้านนั้นผ่านความร้อนและเย็นสลับกันมาเนิ่นนาน อย่างไรก็ตาม รอยร้าวคือทางเข้าของน้ำฝนให้ซึมเข้ามาชื้นอยู่ในผนังได้ง่ายขึ้น และบางครั้งอาจซึมเข้ามาถึงภายใน เมื่อเห็นผนังร้าว จึงควรจะซ่อมแซม ก่อนพายุใหญ่จะเข้ามา โดยเฉพาะหากผนังนั้นไม่ได้อยู่ใต้ชายคา หรืออยู่ด้านที่ลมพัดฝนเข้ามาปะทะโดยตรง และหากผนังนั้นมีเฟอร์นิเจอร์ตั้งบังไว้ ต้องระวังว่าความชื้นจะสะสมอยู่ข้างในเฟอร์นิเจอร์โดยเราไม่รู้ตัว
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ