• 21 พ.ค. 2562

ช่องน้ำล้นคืออะไร? ทำไมจึงสำคัญยิ่งนัก?

          ช่องน้ำล้น หรือเรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า Over Flow คือช่องที่เอาไว้ระบายน้ำออก ช่องน้ำล้นในวงการก่อสร้างมีใช้ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นตามระเบียง ดาดฟ้า รางน้ำฝน ถังเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งในสุขภัณฑ์ชิ้นเล็ก ๆ ประเภทอ่างล้างหน้า

          หลายท่านคงเคยเห็นว่าอ่างล้างหน้าจะมีรูอยู่บริเวณใกล้ขอบอ่างด้านบน ซึ่งช่องน้ำล้นนี้ มีไว้เผื่อกรณีสะดืออ่างน้ำตัน หรือเราปิดสะดืออ่างเอาไว้ หากมีน้ำไหลเติมไปในอ่าง น้ำจะได้ไม่ล้นแบบควบคุมไม่ได้ออกขอบอ่างเลอะเทอะ ซึ่งน้ำก็จะไหลลัดเข้าไปในช่องเซรามิกที่ออกแบบไว้ ไปสู่ท่อน้ำทิ้งใต้อ่างในที่สุด บริษัทผลิตอ่างทั้งหลายคงรู้หลักการนี้เป็นอย่างดีและไม่มีวันลืมออกแบบช่องน้ำล้นเอาไว้ วันนี้เราจึงจะมาพูดถึง ช่องน้ำล้นตามระเบียง ดาดฟ้า และรางน้ำฝน กันดีกว่า

          หลักการเบื้องต้นของการทำช่องน้ำล้นนั้นแสนง่าย ก็แค่เจาะรูเอาไว้ ในระดับที่ไม่ต้องการให้น้ำล้นเกินระดับนั้น ทีนี้หลายคนอาจมีคำถาม ระเบียง ดาดฟ้า และรางน้ำ มันก็มีท่อระบายน้ำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? ....ใช่แล้วครับ ตามทฤษฎีทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้น ต้องมีท่อระบายน้ำที่ทำหน้าที่ระบายน้ำได้พอเพียงเป็นแผนหนึ่ง ฉะนั้นช่องน้ำล้นจึงเป็นแผนสอง ที่เอาไว้รองรับเวลาแผนหนึ่งผิดพลาด

          และสภาพฝนฟ้าอากาศในเมืองไทย แผนหนึ่งที่ว่ามักพลาดเสมอ

          ก็เพราะบ้านเราฝนตกหนัก ความชื้นสูง ต้นไม้เยอะ ฝุ่นเยอะ นกเยอะ บ่อยครั้งตะแกรงท่อระบายน้ำมักตันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะนกนี่เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะชอบไปทำรังตามระเบียงตามรางน้ำกันจริง ๆ ซึ่งเศษรังนกทั้งหลายมักทำให้ตะแกรงอุดตันได้ตลอด ๆ หรือเอาเข้าจริง แม้ไม่มีเศษใบไม้หรือขยะไปอุดตัน แม้กระทั่งขี้ฝุ่นที่หมักหมมมายาวนาน เมื่อโดนความชื้นจนตะไคร่น้ำก่อตัวสะสมก็กลายเป็นแผ่นคราบที่ดูคล้ายสาหร่ายแผ่นอาหารว่าง ที่พร้อมอุดตันท่อน้ำได้ตลอดเวลา เบื้องต้นจึงขอแนะนำว่าควรตรวจเช็คฝาท่อระบายน้ำก่อนฝนตกหนักทุกปีไป แม้ว่าจุดนั้นเหมือนจะไม่มีอะไรไปอุดตันท่อน้ำได้ก็ตาม

          แต่ก็อย่างว่า จุดระบายน้ำพวกนี้ใช่ว่าจะตรวจสอบได้ง่ายทุกจุดเสียที่ไหน การมีช่องน้ำล้นไว้จึงอุ่นใจกว่า ซึ่งช่องน้ำล้นควรอยู่ในระดับที่เมื่อน้ำท่วมถึงระดับนั้นแล้วยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ เช่น หากเป็นพื้นระเบียงที่มักมีระดับพื้นระเบียงต่ำกว่าพื้นห้อง ช่องน้ำล้นก็ควรจะเจาะอยู่ในระดับความสูงก่อนที่น้ำจะนองถึงพื้นห้อง เพราะหากตะแกรงท่อที่พื้นตัน อย่างน้อยน้ำก็จะล้นออกไปก่อนจะเข้าห้องมาได้ แต่ถ้าขอบระเบียงบ้านหรือคอนโดเราต่ำกว่าระดับพื้นห้อง ท่อน้ำล้นก็ไม่จำเป็นนัก เพราะว่าน้ำจะไหลล้นขอบระเบียงก่อนเข้าห้องอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นท่อน้ำล้นบริเวณรางน้ำคอนกรีตบนหลังคา ท่อน้ำล้นก็ควรอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับที่จะทำให้น้ำไหลล้นเข้าตึกได้

          อ่อ... อย่าลืมเผื่อระดับสำหรับน้ำกระฉอกไว้ด้วยนะครับ

 

          ช่องน้ำล้นมักอยู่บนผนังหรือขอบพื้นซึ่งตั้งฉากกับพื้นโลก โอกาสที่ช่องน้ำล้นจะอุดตันจึงมีน้อยกว่าตะแกรง และเพื่อป้องกันน้ำล้นไหลละเลียดไปกับผนังภายนอกจนเกิดเป็นคราบน่าเกลียดน่าชัง ช่องน้ำล้นจึงมักต่อท่อหรือออกแบบให้เป็นรางน้ำยื่นออกมาจากผนังเล็กน้อย อันที่จริงหากสภาพการทำงานของตะแกรงและท่อระบายน้ำปกติ การคำนวณปริมาณน้ำฝนได้มาตรฐาน เราไม่ควรจะเห็นน้ำไหลออกมาทางช่องน้ำล้นเด็ดขาด

          เพราะฉะนั้นหากเราเงยหน้าขึ้นไปเห็นน้ำไหลออกจากช่องน้ำล้น นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบระบายน้ำมีปัญหา และน่าจะมีการอุดตันเกิดขึ้น ควรรีบตรวจแก้โดยด่วน เพราะท่อน้ำล้นมักไม่ได้เตรียมไว้ใหญ่พอที่จะระบายน้ำฝน (มีมากหรือใหญ่ไปจะดูน่าเกลียด) แต่ใช้เผื่อชะลอเหตุการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น และหากปล่อยท่อระบายน้ำปกติอุดตันไปนานๆ เท่ากับว่าเรากำลังกักเก็บน้ำไว้ในตำแหน่งที่ไม่ต้องการ ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาน้ำขัง น้ำซึมสะสมเข้าโครงสร้าง เหล็กที่เสริมเอาไว้เป็นสนิม หรือรางน้ำต้องรับน้ำหนักน้ำที่ขังตลอดเวลาโดยไม่จำเป็น

          ช่องน้ำล้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในยามฉุกเฉิน ไว้ป้องกันอุทกภัยไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับบ้านหรือห้องของเรา ไม่ได้มีไว้ใช้งานในยามปกติ ซึ่งเป็นช่องที่ควรมีไว้ และเมื่อเห็นน้ำล้นออกจากช่องนี้เมื่อไหร่ ให้รีบตรวจสอบว่ามีท่อระบายน้ำตันที่จุดไหนหรือไม่ แล้วรีบแก้ไขให้ทันท่วงที



จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ