ที่มาของหน่วย “หุน” ลูกผสมไทย-จีน-อังกฤษ
ทีนี้ในบรรดาหน่วยเมตริก สิ่งของที่มันเล็กไปกว่าหน่วยเซนติเมตร เราสามารถระบุให้เล็กลงเป็นระดับมิลลิเมตรได้ แต่กับหน่วยอเมริกัน-อังกฤษ หน่วยที่เล็กกว่า 1 นิ้ว จะไม่มีชื่อหน่วยเรียกเฉพาะ และเพราะหนึ่งนิ้วจะแบ่งเป็น 8 ส่วนย่อย เลยต้องเรียกเป็น 1 ส่วน 8 นิ้ว หรือ 3 ส่วน 8 นิ้วแทน (ที่มาตรฐานนี้เขาแบ่งเป็น 8 ส่วนย่อย เพราะมีที่มาจากการแบ่งทีละครึ่ง จากครึ่งหนึ่ง (½) ก็เป็น 1ใน 4 (¼) และ 1 ใน 8 ตามลำดับ)
ซึ่งช่างไทยเราเรียกขนาด 1 ส่วน 8 นิ้วนี่แหละครับว่า"หุน" 4 หุน จึงเท่ากับ ครึ่งนิ้ว, 6 หุน จึงเท่ากับ ¾ นิ้ว และ 8 หุน จึงเท่ากับ 1 นิ้ว นั่นเอง
ความน่าสงสัยก็คือ ในภาษาอังกฤษไม่มีคำเรียกหน่วย 1 ใน 8 ของนิ้ว แต่ไหงพี่ไทยกลับสร้างสรรค์คำเรียกออกมาได้ ??
คำตอบก็คือ มันเกิดจากการผสมผสานหน่วยวัดของจีนเข้าไปด้วย ซึ่งเริ่มจากหน่วยนิ้วของฝรั่งเมื่อเทียบกับหน่วยวัดของจีนโบราณ มันออกจะมีความยาวใกล้เคียงหน่วย ชุ่น (寸) (สำเนียงจีนแต้จิ๋วอ่านว่า “ชุ้ง”) ของจีน
แต่ในหน่วย “ชุ่น” ของจีนนั้นถูกแบ่งเป็น 10 ส่วน ซึ่งมีหน่วยเรียกว่า เฟิน (分) (สำเนียงจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ฮุ้ง”) ช่างจีนชาวฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วซึ่งมีจำนวนมากในไทยที่เรียกหน่วย 1 ใน 10 ของชุ้งว่าฮุ้ง ก็แปลมาเป็นสำเนียงไทยว่า “หุน” แล้วการเรียกหน่วยนี้ก็เผยแพร่มาสู่หน่วยวัดของไทย
ต่อมาระบบการวัดความยาวของจีนโบราณถูกปรับเปลี่ยนใหม่ และอนุโลมให้หน่วยชุ้งของจีนปรับให้เท่ากับหน่วยนิ้วของสากลไปซะเลย เพราะไหน ๆ ก็ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ทางจีนจะได้ไม่ต้องบัญญัติศัพท์เรียกหน่วยวัดใหม่ และในประวัติศาสตร์จีน หน่วยวัดในแต่ละยุคสมัย สามารถถูกปรับเปลี่ยนให้มีขนาดสั้นลงยาวขึ้นได้ ไม่ต้องสร้างหน่วยเรียกใหม่ขึ้นมา (เช่นหน่วยชุ่นในราชวงศ์ฮั่น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยชุ่นในราชวงศ์ชิง เป็นต้น)
ช่างจีนในไทยและช่างไทยจึงปรับตัวตามมาตรฐานใหม่ โดยผสมผสานหน่วยจีนและอังกฤษ โดยเรียกหน่วยชุ้ง ว่าหน่วยนิ้ว และความยาว 1 ส่วน 8 นิ้ว ไปเรียกว่าหุนแทน ส่วนในจีนทุกวันนี้ ก็เรียกหน่วย 1 ส่วน 8 นิ้วว่า เฟิน (หรือฮุ้งในสำเนียงแต้จิ๋ว) เช่นกัน
และนี่คือที่มาที่ว่าทำไมจึงไม่มีคำแปลหน่วยหุนในภาษาอังกฤษ และ 1 หุนจึงเท่ากับความยาว 1 ส่วน 8 นิ้วนั่นเอง
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ