• 12 ก.ค. 2562

บ้านแบบไหน? ไม่ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นออกแบบ

          เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า อาคารทุกอาคารต้องมีผู้รับผิดชอบในการออกแบบ และการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งนั่นคือที่มาของวิชาชีพสถาปนิกและวิศวกร ซึ่งสถาปนิกมีหน้าที่ออกแบบหน้าตา รูปแบบและหน้าที่การใช้งานของอาคาร ส่วนวิศวกรมีหน้าที่ออกแบบโครงสร้าง ระบบสุขาภิบาล ไฟฟ้า ฯลฯ

          สถาปนิกและวิศวกรจึงเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในอาคาร อีกทั้งเป็นอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งก็หมายความว่าถ้าทำงานผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบตามหลักกฎหมายวิชาชีพ และใครอื่นจะมารับผิดชอบแทนไม่ได้

          หลักปฏิบัติทางกฎหมายจึงบังคับให้เมื่อมีการขออนุญาตออกแบบก่อสร้างอาคารจะต้องมีลายเซ็นสถาปนิก วิศวกรที่รับผิดชอบการออกแบบและควบคุมงานกำกับไว้

          แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้เช่นกัน เพราะในอาคารเล็ก ๆ ที่ผู้คนทั่วไปพอจะออกแบบก่อสร้างกันเองได้ตามประสาช่างชาวบ้าน กฎหมายก็ระบุว่าไม่จำเป็นต้องให้สถาปนิกและวิศวกรเซ็นกำกับเมื่อยื่นขออนุญาต ซึ่งตาม “กฎกระทรวงฉบับที่ 56 (พ.ศ.2543)” ตีความได้ว่า อาคารที่อยู่ในพื้นที่การปกครองของอบจ. อบต. ที่ไม่ได้มีกฎหมายอื่นใช้บังคับ ที่เป็นอาคารอยู่อาศัยไม่เกิน 2 ชั้น และมีพื้นที่รวมไม่เกิน 150 ตารางเมตร เมื่อจะขออนุญาต ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ให้แนบเฉพาะเอกสารแผนผังบริเวณแสดงที่ตั้งอาคารโดยสังเขป และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมกับคำขอ

          นั่นก็คือ บ้านที่มีพื้นที่เล็กๆ ไม่เกิน 150 ตารางเมตร ไม่เกิน 2 ชั้น ไม่ต้องจ้างสถาปนิกและวิศวกรมาออกแบบเขียนแบบหรือเซ็นแบบให้วุ่นวาย ส่วนการคุมงานนั้นสามารถใช้ชื่อเจ้าของเซ็นแทนได้ เนื่องจากกฎหมายพิจารณาแล้วว่าในสภาพความเป็นจริงบ้านเล็ก ๆ ระดับนี้ น่าจะทำได้เองโดยใช้ประสบการณ์ช่าง

          แต่! ยังมีรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม วิศวกรกำหนดไว้อีกหน่อย ใน “กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (พ.ศ. 2550)” ตรงที่ว่า หากบ้านหลังนั้นสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือชั้นใดชั้นหนึ่งสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป (ระดับพื้นถึงพื้น) หรือมีช่วงเสาที่ห่างกันตั้งแต่ 5 เมตรเป็นต้นไป ต้องมีวิศวกรเซ็นควบคุม อาคารที่มีขนาดเล็กกว่า 150 ตารางเมตรแต่มีรูปแบบโครงสร้างติดเงื่อนไขข้างต้น ก็จำเป็นต้องมีวิศวกรเซ็นออกแบบและควบคุมงานอยู่ดี


          ตัวอย่างของบ้านที่ไม่จำเป็นต้องมีสถาปนิกเซ็นออกแบบและควบคุมงานจึงเป็นบ้านสองชั้นขนาด 150 ตารางเมตร ความสูงของชั้นมากที่สุด 3.90 เมตร และมีช่วงเสาห่างกันมากที่สุด 4.90 เมตร หากเป็นไปตามหรือน้อยกว่านี้เจ้าของบ้าน ส่วนใหญ่ก็จะสามารถขออนุญาตสร้างบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างสถาปนิกและวิศวกรมาออกแบบหรือควบคุมงาน

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ระบุว่าหากบางท้องถิ่นมีกฎหมายท้องถิ่น หรือกฎหมายอื่นกำหนดเงื่อนไขด้านนี้ไว้เป็นอย่างอื่นก็จะใช้หลักเกณฑ์ตามข้อนี้ไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ยังมีโอกาสที่การสร้างบ้านพักอาศัยขนาดเล็กๆ ตามเงื่อนไขข้างต้นในบางท้องที่จะยังต้องใช้สถาปนิกและวิศวกรเซ็นออกแบบและควบคุมงานอยู่ดี แต่ว่ากันโดยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ต้องใช้แต่อย่างใดครับ



จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ