• 22 เม.ย. 2562

จากทรายสู่แก้ว แล้วมาเป็นกระจก วัสดุใส ๆ ที่ไม่ควรถูกมองข้าม

          ด้วยความก้าวหน้าของโลกยุคนี้ทำให้เรามีวัสดุหลายหลายให้หยิบใช้รอบตัว แต่มีวัสดุหนึ่งที่ข้างกายเรา แต่เรามักมองข้ามมันไป นั่นก็คือ กระจก

          แม้มันจะดูโปร่งใสไร้ตัวตน แต่กระจกมีบทบาทอย่างยิ่งต่อสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะโลกของวิทยาศาสตร์ ลองคิดจินตนาการถึงห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีกระจก เราจะพบว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว และหากไม่มีกระจกแล้วโลกเราคงล้าหลังไปมากกว่านี้มาก

          เพราะไม่ว่าแว่นตา แว่นขยาย หลอดไฟของเอดิสัน หลอดภาพของโทรทัศน์ กล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือกล้องส่องทางไกลเพื่อการศึกษาสิ่งไกลโพ้นอย่างดวงจันทร์และดวงดาว ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย กระจกจึงปัจจัยสำคัญในการบุกเบิกวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่ขาดไม่ได้แน่นอนว่าข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงยารักษาโรคต่าง ๆ เป็นผลพลอยได้หนึ่งจากการมีกระจก (หากไร้ซึ่งกระจกในกล้องจุลทรรศน์เราคงยากจะรู้จักเชื้อโรคและเซลล์ต่าง ๆ)

          ที่จริงอารยธรรมของมนุษย์รู้จักการใช้ลูกปัดแก้วซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับกระจกมานานนับพันปี หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า อารยธรรมอียิปต์และกรีกรู้จักการทำแก้วมากว่า 3,000 ปีแล้ว ส่วนจีนจะช้ากว่าคือเพิ่งรู้จักแก้วเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับ Knowhow อียิปต์และกรีกที่ค่อยๆ ส่งต่อกันมา

          แต่แก้วยุคแรกช่างห่างไกลกับแก้วและกระจกในทุกวันนี้ ความรู้รอบตัวที่ว่าแก้วและกระจกเกิดจากทราย (ซิลิกา) ที่ถูกหลอมแล้วทำให้เย็นตัวลงนั้น เป็นเพียงความรู้เบื้องต้น แก้วที่หลอมจากทรายโดยตรงเพียว ๆ จะมีความขุ่น เขียว ไม่ใสสวยงาม และอาจมีสิ่งเจือปนอยู่มากมาย แก้วหรือกระจกใสจะเกิดขึ้นได้ จึงเกิดจากการศึกษาสูตรเฉพาะและเทคนิคมากมาย ไม่ว่าสารที่ต้องใส่เพิ่มลงไปเพื่อความใส ไล่ฟองอากาศ หรือเทคนิควิธีการหลอมแก้วให้ออกมาเป็นแผ่นเรียบหรือเป่าให้เป็นภาชนะกลวงล้วนต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทดลองต่อเนื่องกันมา

          อารยธรรมโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นอารยธรรมแรกๆ ที่ริเริ่มทดลองสูตรการผลิตแก้วอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และเป็นอารยธรรมแรกที่คิดค้นวิธีการเป่าแก้วขึ้น แล้วแก้วก็ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคกลาง แก้วถูกทำเป็นแผ่นบางและถูกใช้เป็นกระจกประดับหน้าต่างในโบสถ์ยุโรป แต่กระจกยุคนั้นยังไม่สามารถผลิตเป็นแผ่นใหญ่ได้ ชาวยุโรปยุคนั้นจึงใช้กระจกแผ่นเล็กๆ เชื่อมต่อกันด้วยตะกั่ว และด้วยข้อจำกัดนี้บวกกับหัวคิดทางศิลปะ ก็กลายเป็นหน้าต่างกระจกประดับสีสันที่เรารู้จักกันในนาม Stained Glass เนื่องจากเป็นกระจกที่มีสีสัน ไม่สามารถมองเห็นออกภายนอกอาคารได้ กระจกในยุคนั้นจึงไม่ได้อยู่ในฐานะช่องแสงหรือหน้าต่าง แต่อยู่ในฐานะผนังที่ส่องแสงได้

          และแล้วในคริสต์ศตวรรษที่ 12 -13 เทคนิคการผลิตกระจกใส เรียบ และแผ่นใหญ่ก็เริ่มถูกพัฒนาขึ้น และหลังจากนั้นเป็นต้นมา กระจกก็มีความหมายว่าเป็นความโปร่งใส (หน้าต่างกระจก) การขยายวิสัยทัศน์ (เลนส์) หรือการสะท้อนตัวตน (กระจกเงา)


          จนมาถึงยุคใกล้ กระจกก็ถูกพัฒนาไปอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกสำหรับงานก่อสร้าง กระจกนิรภัย กระจกสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกระจกสำหรับเทคโนโลยีชั้นสูง

          จะเห็นได้ว่าวัสดุพื้นฐานที่อยู่ข้างกายเราที่เรามองไม่ค่อยเห็นเช่นแก้วหรือกระจกนั้น มีบทบาทที่สำคัญต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างยิ่ง และกว่าจะเป็นกระจกที่มีคุณค่าและความหมายอย่างในทุกวันนี้ได้ต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนามากมายหลายร้อยปี

          เมื่อรู้ที่มาและความสำคัญของกระจกแล้ว หวังว่าเมื่อท่านมองไปที่หน้าต่างครั้งต่อไป ท่านคงจะมีจังหวะเล็กๆ ที่จะไม่มองข้ามความสำคัญของกระจกที่มีต่อสังคมมนุษย์นับพันปี



จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ